ประวัติและความเป็นมา

 

 ประวัติและความเป็นมาของพระปริยัตินิเทศก์

                เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (สมัยนั้น สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) ได้ดำริให้มีการแต่งตั้งพระปริยัตินิเทศก์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อครูสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรมากขึ้น เป็นการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ทั้งนี้ ด้วยปรารภว่า ครูสอนพระปริยัติธรรม แม้จะมีวุฒิการศึกษานักธรรมหรือเปรียญธรรมก็ดี แต่ส่วนใหญ่แล้วมิได้ศึกษากระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรวิชาครูมาโดยตรง ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้หรือเทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และมีผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์

                เพื่อประโยชน์ในการที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งหลาย อันจะอำนวยประโยชน์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนมากขึ้นด้วย จึงได้กำหนดโครงการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นพระปริยัตินิเทศก์ โดยในเบื้องต้นนั้น ก็ได้รับความเมตตาอย่างยิ่งจากเจ้าคณะจังหวัดในการพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้สอนที่เห็นสมควรเข้ารับการอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นพระปริยัตินิเทศก์ และเมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นพระปริยัตินิเทศก์แล้ว ก็จะมีภารกิจหรือปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการนิเทศ ตลอดถึงช่วยเหลือการจัดการศึกษา และการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์มากขึ้น

                คุณสมบัติพระปริยัตินิเทศก์ในครั้งแรก ๆ นั้น ได้กำหนดให้มีวิทยฐานะเป็นเปรียญเอกขึ้นไป และต่อมาจึงได้เพิ่มเติมในส่วนของตำแหน่งพระสังฆาธิการ เจ้าคณะปกครองสงฆ์ ซึ่งปรากฎว่าได้อำนวยประโยชน์ในกระบวนการนิเทศให้บังเกิดผลดีเป็นอย่างมาก สำหรับการดำเนินโครงการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมเพื่อเตรียมเป็นพระปริยัตินิเทศก์ในรุ่นแรก ๆ นั้น กำหนดไว้จังหวัดละ ๑ รูปทั่วประเทศ และได้กำหนดจัดโครงการอบรมครั้งละ ๔๕ วัน โดยจัดในแต่ละหนของการปกครอง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมเสริมความรู้ในวิชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการนิเทศ ซึ่งนอกจากมีวิชาการเทคนิค วิธีการสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการนิเทศและการเรียนการสอนแล้ว ยังได้กำหนดประเด็นหลักที่พระปริยัตินิเทศก์พึงต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติหรือแนะนำเผยแพร่ได้เพราะนับเป็นเรื่องสำคัญหนึ่งในกระบวนการนิเทศ คือการเขียนโครงการ การเขียนแผนการสอนและการรายงานผลการปฏิบัติงานในแต่ละปีการศึกษาด้วย

                การปฏิบัติหน้าที่นิเทศครูสอนของพระปริยัตินิเทศก์ในสมัยแรก ๆ นั้น ได้ดำเนินการในรูปแบบหมู่คณะ คือ กำหนดนัดหมายครูสอนในจังหวัดของตนให้มาประชุมพร้อมกัน ณ โรงเรียนหรือสำนักศาสนศึกษาวัดใดวัดหนึ่ง โดยกำหนดจำนวนมากน้อยตามที่เห็นสมควร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภารกิจนิเทศในแต่ละครั้ง ในบางครั้งพระปริยัตินิเทศก์จะไปทำการนิเทศตามสำนักศาสนศึกษาหรือโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ได้นัดหมายกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว 

TOP

© Copyright 2021 All Rights Reserved. www.pariyattinited.net